Wednesday 15 June 2011

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการเรียนภาษาอังกฤษ

ผมคาดว่าผู้อ่านหลาย ๆ ท่านที่กำลังอ่านบทความของผมอยู่นี้ได้เรียนภาษาอังกฤษมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไร ๆ มันดีขึ้นกว่าเดิม  นี่ก็มีอยู่หลายกรณีด้วยกัน  บางท่านอ่านออกได้สบายมาก แต่ไม่สามารถเขียนได้  เมื่อต้องเขียนก็มักจะมีข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์อยู่มากมาย  บางท่านก็กลัวที่จะพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ  คุณกลายเป็นคนที่กลัวทุกอย่างที่มาจากประเทศอังกฤษ เมื่อมีชายชาวต่างชาติ ผมทอง ตัวสูง เดินเข้ามาหา  ตัวของชายผู้นี้เองอาจไม่ได้มาจากประเทศอังกฤษเลยก็ได้ แถมยังประสบปัญหาเดียวกันกับคุณในการพูดภาษาอังกฤษ แต่คุณก็ยังกลัวที่จะพูดคุยกับเขาอยู่ดี  ผู้อ่านบางท่านอาจประสบปัญหา ไม่เข้าใจสิ่งที่ชายชาวต่างชาติคนนี้กำลังพูดเลยก็ได้

เหล่านี้เป็นเพียงเหตุการณ์ที่ผมได้พบ เมื่อครั้งผมอยู่ที่เมืองไทย (แล้วก็อีกหลาย ๆ ประเทศ) เนื่องจากผมพูดใช้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน  ผมคิดว่าผมมีคุณสมบัติพอที่จะเขียนเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ และนำเสนอคำตอบไปพร้อม ๆ กันด้วย โปรดจำไว้ด้วยว่า บทความนี้ไม่ได้เป็นงานวารสารเชิงวิชาการ และผมก็จะไม่นำทฤษฎีทางภาษาศาสตร์มาพูดให้งง ผมเพียงแต่จะใช้สิ่งต่าง ๆ จากประสบการณ์ของผมเอง

1.โยนไวยากรณ์ลงถังไปเลยครับ
ความกังวลของคนไทยโดยทั่วไปคือเรื่องของไวยากรณ์ หลาย ๆ ท่านในที่นี้คงเคยพยายามท่องจำกฎต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษ  ผมไม่อยากเป็นคนที่จะนำข่าวร้ายมาบอก แต่สิ่งที่ท่านทำอยู่มันไม่ค่อยจะมีประโยชน์ เด็ก ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกไม่เห็นจะต้องมานั่งท่องจำกฎเหล่านี้เพื่อจะให้พูดภาษาแม่ของพวกเขาได้เสียหน่อย  ตัวผมเองก็ไม่เคยมานั่งท่องจำกฎเหล่านี้เลย  ผมว่าเราจะใช้เวลามากเกินไปในการสร้างประโยคขึ้นมาสักประโยค ถ้าเราต้องมานั่งคำนึงถึงกฎต่าง ๆ ทางไวยากรณ์  คุณต้องมานึกถึงประธาน กริยา กรรม  แล้วคุณยังจะต้องมากกังวลว่ากริยากระจายสอดคล้องกับประธานหรือไม่  แล้วก็ยังมีเรื่องของคำบุพบทและคำสันธานอีก  คุณต้องทำตามขั้นตอนเหล่านี้เพื่อจะให้ได้ประโยคเพียงประโยคเดียว  มันเสียเวลาไปเปล่า ๆ  สมองของคุณอาจรู้สึกว่ามันพร้อมแล้วที่จะระเบิดได้ทุกเมื่อ


2.เรียนจากประโยคและการแทนคำในประโยค
ในความคิดของผม การเรียนในลักษณะนี้มีความเป็นธรรมชาติมากกว่า คุณเริ่มจากประโยคหนึ่งประโยค แล้วคุณก็แทนที่คำใหม่ ๆ หรือวลีใหม่ ๆ ลงไปในประโยคเดิม เพื่อให้ได้ประโยคใหม่  ตัวอย่างเช่น คุณมีประโยคว่า I love my mother  คุณสามารถแทนคำว่า mother ได้ด้วยคำว่า father  ผลลัพธ์ใหม่ที่ได้คือประโยคที่ว่า  I love my father อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างง่าย ๆ เพื่อความเข้าใจ  ผมเพียงแค่เขียนเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย  ไม่ได้เขียนเป็นหนังสือเรียน (ซึ่งหาได้อยู่แล้วตามท้องตลาด)

การเรียนด้วยวิธีนี้คล้าย ๆ กับการฝึกทหารนะครับ  คุณต้องการการฝึกพูดซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบก่อนที่โครงสร้างของประโยคจะเข้าไปอยู่ในสมอง  แต่ข้อดีก็คือสมองของคุณจำทำการบันทึกโครงสร้างเหล่านี้ไว้ให้คุณได้นำไปใช้อย่างสะดวกรวดเร็ว  นอกจากนี้สมองของคนเรายังเป็นสิ่งมหัศจรรย์  คุณอาจพบได้ภายหลังว่า สมองของคุณนำโครงสร้างต่าง ๆ มารวมกันเป็นโครงสร้างใหม่ให้กับคุณ

3.ลืมการแปลไปได้เลย
ถ้าหากว่าเป้าหมายในการเรียนภาษาอังกฤษของคุณผู้อ่านไม่ใช่การเป็นนักแปล คุณก็ลืมเรื่องของการแปลไปได้เลยครับ  สมองของคุณจะต้องทำงานหนักเกินควรเสียเปล่าถ้าคุณต้องมาแต่งประโยคเป็นภาษาไทย (หรือภาษาอื่น ๆ ก็ตามที) แล้วต้องมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วถึงจะพูดออกมาได้

แต่คุณอาจสงสัยว่า "แล้วจะให้ฉันเข้าใจอะไรต่าง ๆ ได้อย่างไรล่ะ"

อันนี้เป็นเรื่องที่ยากขึ้นมานิดหน่อยครับ  คุณต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจากส่ิงที่เห็นเป็นภาพ หรือจับต้องได้  คุณอาจเริ่มจากการใช้พจนานุกรมภาพ  ดูภาพ แล้วก็เรียนคำศัพท์ไปพร้อม ๆ กับภาพนั้นเลย  ในชีวิตจริง คุณอาจถามเพื่อที่เป็นเจ้าของภาษาว่า ไอ้สิ่งที่คุณกำลังชี้อยู่นี้ มันเรียกว่าอะไร  ข้อสำคัญคือต้องไม่แปลเป็นภาษาไทยเลยนะครับ  อันนี้อาจทำได้อย่างหน่อย  แต่สามารถทำได้แน่นอนครับ  ผมก็เข้าใจด้วยว่าทุกท่านคงไม่สามารถมีเพื่อนชาวต่างชาติอยู่ใกล้ ๆ ได้ตลอดเวลา  ผมจึงเสนอให้ซื้อพจนานุกรมภาพ  แต่หากไม่อยากจะลงทุนมากนักก็ยังมี Google Image ที่สามารถช่วยท่านได้  โดยการพิมพ์ศัพท์ภาษาอังกฤษลงไป เพื่อหาภาพ  แทนที่จะมาแปลว่าคำ ๆ นี้มีความหมายว่าอย่างไรในภาษาไทย

หลังจากคุณเข้าใจคำที่เป็นส่ิงของที่จับต้องได้แล้ว  คุณก็เริ่มพัฒนาไปเรียนคำที่เป็นไอเดีย เป็นนามธรรม  ลองหาคำศัพท์ใหม่ ๆ จากพจนานุกรมอังกฤษ -  อังกฤษหลาย ๆ เล่ม  ใช่แล้วครับ หลาย ๆ เล่มเลย  ถ้ารีบ ๆ เล่มเดียวก็คงพอ  แต่ส่วนตัวแล้วผมชอบหาความหมายของคำศัพท์ในพจนานุกรมอย่างน้อยก็สองเล่ม  โดยเฉพาะเวลาที่ผมกำลังเรียนรู้คำใหม่ ๆ ที่เป็นนามธรรม  ทั้งนี้ก็เพราะว่าพจนานุกรมหลาย ๆ เล่มนั้นให้ความหมายไว้ไม่เหมือนกัน  เราจะเข้าใจคำศัพท์ได้ดีขึ้น

4.ลืมสิ่งที่เคยเรียนมาเกี่ยวกับการออกเสียง
สำหรับส่วนนี้เป็นส่วนที่เขียนให้กับผู้อ่านที่ต้องการพัฒนาทักษะทางด้านการออกเสียงนะครับ  ผู้อ่านที่มันใจว่าออกเสียงได้ดีอยู่แล้ว  บทความส่วนนี้จะไม่เกี่ยวกับท่านเท่าไรนัก

คุณต้องลืมไปซะว่า คุณรู้วิธีในการออกเสียงคำแต่ละคำว่าอย่างไร  แล้วก็เริ่มต้นใหม่หมดกับอาจารย์เจ้าของภาษา หรืออาจารย์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาแต่มีสำเนียงดีเยิ่ม หรือไม่ก็พจนานุกรมอังกฤษ - อังกฤษดี ๆ สักเล่มหนึ่ง  เรียนและเลียนการออกเสียงจากอาจารย์หรือพจนานุกรมนี้  ถ้าไม่อยากลงทุน ผมแนะนำให้ใช้ Google Translate ครับ  คุณสามารถคลิกฟังคำได้แล้วว่าออกเสียงอย่างไร
สิ่งสำคัญก็คือคุณต้องตั้งใจฟังว่าแต่ละคำออกเสียงอย่างไร ไม่ใช่คิดเอาเองว่าคำ ๆ นี้ออกเสียงอย่างไร  ภาษาแรกของคุณ (ไทยนั่นเอง) จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการได้ยินของคุณ  ซึ่งคุณจำเป็นต้องผ่านข้อนี้ไปให้ได้ด้วยการหมั่นฝึกฝน ถึงแม้จะทำได้ยากหากไม่มีมืออาชีพคอยช่วย  แต่รับรองว่าไม่เหนือไปกว่าความสามารถของคุณหรอกครับ


Website ดีๆที่ผมอยากแนะนำสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษ
http://www.languageexpress.co.th/th/learn-english-at-language-express-bangkok-th

No comments:

Post a Comment